ข้อมูลพื้นฐาน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ผืนป่าขนาดใหญ่ในตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นป่าต้นน้ำแควใหญ่ชื่อว่า “ลำห้วยขาแข้ง” พาดผ่านผืนป่าใหญ่ ขึ้นสู่ป่าแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และเนื่องจากป่าแห่งนี้เป็นป่ารกทึบ ยังไม่มีผู้บุกรุกทำลายป่า จึงเรียกกันว่า ป่าบริสุทธิ์ (virginforest) คือ ป่าที่ยังไม่มีการจัดการทางด้านป่าไม้มาก่อน จนปี พ.ศ. 2498 จึงได้จัดให้เป็นป่าโครงการ โดยให้สัมปทานการทำไม้แก่บริษัทไม้อัดไทย ตามสัญญาสัมปทานที่ 84 เป็นป่าสัมปทานปิด ในปี พ.ศ.2506 กรมป่าไม้ก็ได้จัดการป่านี้เป็นป่าสัมปทาน เพื่อการทำไม้ออก แต่เนื่องจากป่าในท้องที่นี้ได้ประกาศเป็นป่าปิดด้วยเหตุผลทางการเมือง จึงมิได้มีการอนุญาตให้ทำไม้ ต่อมาทางราชการได้ยกเลิกการทำไม้แบบเก่ามีการปรับปรุงวางโครงการใหม่ เป็นการให้สัมปทานระยะยาวแก่ บริษัท ไม้อัดไทย จำกัด อีกครั้งหนึ่ง ครอบคลุมป่าโครงการห้วยทับเสลา – ห้วยขาแข้ง มีกำหนดระยะเวลา 30 ปีนับตั้งแต่ วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2513 โดยแบ่งป่าโครงการดังกล่าวเป็น 10 ตอน แต่ละตอนมี 3 แปลงตัดฟันให้ตัดฟันไม้แปลงละ 1 ปี พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยขาแข้ง ส่วนใหญ่ได้ถูกกันไว้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2508 ได้มีการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 เรื่องการสำรวจควายป่า ของนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่เข้าร่วมสำรวจป่ากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ บริษัทไม้อัดไทย จำกัด หลังจากแพร่ภาพได้มีการส่งรายงานการสำรวจให้แก่กรมป่าไม้ โดยรายงานว่าสัตว์ป่าในห้วยขาแข้งนับได้ว่ามีจำนวนและมีปริมาณมาก จึงได้มีการดำเนินการและเตรียมการจัดตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต่อมาทางกรมป่าไม้เห็นว่า พื้นที่ป่าสัมปทานที่อยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บางส่วนเป็นบริเวณที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากและเป็นพื้นที่เขาสูงยากต่อการทำไม้ โดยเฉพาะพื้นที่ในแปลงสัมปทานในลุ่มน้ำลำห้วยทับเสลา และพื้นที่ทางตอนใต้ของลุ่มน้ำลำห้วยขาแข้ง โดยประสานงานกับ บริษัทไม้อัดไทย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานทำไม้บริเวณดังกล่าว เพื่อให้ยกเลิกสัมปทาน เนื่องจากรัฐบาลโดยกรมป่าไม้เห็นว่าพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนของ ลำห้วยขาแข้ง และลำห้วยทับเสลามีสภาพป่าสมบูรณ์และสัตว์ป่าชุกชุม ประกอบกับเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่หายากหลายชนิด เช่น สมเสร็จ เลียงผา กระซู่ เนื้อทราย เก้งหม้อ ควายป่า ละอง และแมวลายหินอ่อน ดังนั้น ในปี พ.ศ.2529 จึงได้มี พระราชกฤษฎีกาขยายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในท้องที่ตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ
อำเภอลานสัก ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต นอกจากนี้พื้นที่ลุ่มน้ำลำห้วยขาแข้งและลำห้วยทับเสลาตอนบน ยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการเกษตรและเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของชาติด้วย รัฐบาลจึงมีนโยบายอนุรักษ์พื้นที่นี้ไว้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีได้เสนอกรมป่าไม้ขอให้ดำเนินการสงวนป่าผืนนี้ ซึ่งกรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่า เป็นป่ารกทึบยังไม่มีผู้บุกรุกทำลาย และมีอาณาเขตกว้างขวางมาก (ราว 1,600 ตารางกิโลเมตร) จึงสมควรดำเนินการคุ้มครองไว้ก่อน ต่อมาหนังสือพิมพ์สารเสรี ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2507 ได้ลงข่าวเกี่ยวกับการตรวจราชการท้องที่ ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ ของป่าไม้ จังหวัดอุทัยธานี ตรวจพบชาวกะเหรี่ยงบ้านใหม่แผ้วถางป่าจำนวน 200 ไร่ กับบริเวณอีมาด ห้วยขาแข้ง ซึ่งอยู่ในโครงการที่จะกำหนดให้เป็นป่าคุ้มครอง มีเนื้อที่ 2,100 ตารางกิโลเมตร จึงทำรายงานเสนอไปยังกรมป่าไม้ ซึ่งกรมป่าไม้ได้เห็นพ้องต้องกัน ประกอบกับได้จัดให้ป่าแห่งนี้อยู่ในโครงการที่จะจัดตั้ง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไว้ก่อน จึงเห็นสมควรพิจารณาจัดตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่อไป กรมป่าไม้จึงได้เข้าไปดำเนินการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจเบื้องต้น เพื่อหาความเหมาะสมในการจัดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่การดำเนินงานในระยะแรก ๆ ได้ประสบอุปสรรคต่าง ๆ หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงบประมาณและอัตรากำลัง จึงทำให้การดำเนินงานไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2515 เมื่อนโยบายของกรมป่าไม้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับได้รับงบประมาณสำหรับดำเนินการโดยเฉพาะ จึงได้มีการดำเนินงานอย่างจริงจังด้วยการออกพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดให้ป่าห้วยขาแข้งในท้องที่ตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และอำเภอลานสัก ตำบลคอกควาย และตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 210 ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2515 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 89 ตอนที่ 132 ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2515 เป็นแห่งที่ 5 ของประเทศไทย มีพื้นที่รับผิดชอบในขณะนั้น ประมาณ 1,019,375 ไร่ (1,631 ตารางกิโลเมตร) ต่อมา ในปี พ.ศ. 2529 ได้มีการผนวกพื้นที่เพิ่มเติมทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด 1,609,050 ไร่ หรือ 2,574.64 ตารางกิโลเมตร
จากการที่ได้มีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์เป็นจำนวนมากไปแล้วนั้น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีแผนการจัดการหลักที่เหมาะสม สำหรับการบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่งในประเทศ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก็ได้ถูกจัดไว้เป็นอันดับแรก ซึ่งได้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ภายหลังจากที่ได้มีการจัดทำแผนแม่บท การจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ภายในแผนแม่บทได้บรรจุแผนการพัฒนาพื้นที่ป่ากันชนไว้ด้วย โดยให้มีการผนวกพื้นที่ฝั่งขวาตอนบนของลำห้วยทับเสลา และพื้นที่ลุ่มลำห้วยสองทางเข้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กรมป่าไม้จึงส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจสภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าว เพื่อหาความเหมาะสมและกำหนดแนวเขตให้แน่ชัด ปรากฏว่าพื้นที่ที่เหมาะสม ที่จะผนวกเข้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คือ พื้นที่บริเวณเขาแม่กะสี (ฝั่งขวาตอนบนของลำห้วยทับเสลา) บริเวณหุบเขานางรำ (ลุ่มลำห้วยสองทาง) และในท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก และตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มีเนื้อที่เพิ่มอีกประมาณ 128,437 ไร่ (163.64 ตารางกิโลเมตร)
จากการที่ได้มีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์เป็นจำนวนมากไปแล้วนั้น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีแผนการจัดการหลักที่เหมาะสม สำหรับการบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่งในประเทศ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก็ได้ถูกจัดไว้เป็นอันดับแรก ซึ่งได้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ภายหลังจากที่ได้มีการจัดทำแผนแม่บท การจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ภายในแผนแม่บทได้บรรจุแผนการพัฒนาพื้นที่ป่ากันชนไว้ด้วย โดยให้มีการผนวกพื้นที่ฝั่งขวาตอนบนของลำห้วยทับเสลา และพื้นที่ลุ่มลำห้วยสองทางเข้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กรมป่าไม้จึงส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจสภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าว เพื่อหาความเหมาะสมและกำหนดแนวเขตให้แน่ชัด ปรากฏว่าพื้นที่ที่เหมาะสม ที่จะผนวกเข้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คือ พื้นที่บริเวณเขาแม่กะสี (ฝั่งขวาตอนบนของลำห้วยทับเสลา) บริเวณหุบเขานางรำ (ลุ่มลำห้วยสองทาง) และในท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก และตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มีเนื้อที่เพิ่มอีกประมาณ 128,437 ไร่ (163.64 ตารางกิโลเมตร)
ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2535 ได้มีการประกาศผนวกพื้นที่เพิ่มเติมอีกครั้ง ในส่วนตอนเหนือและฝั่งตะวันออก จึงทำให้ปัจจุบันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต และตำบลคอกควาย ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และบางส่วนครอบคลุมพื้นที่ ตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก รวมมีพื้นที่ทั้งหมด 1,737,587 ไร่ (2,780.14 ตารางกิโลเมตร)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น